การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้าหรือหากำไร
ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตามทั้งนี้ เฉพาะที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 342)
พ.ศ 2541 ใช้บังคับตั้งแต่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป (ป.82)
การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถือว่าเป็นทางการค้าหรือหากำไรตามพระราชกฤษฎีกาฯ
ได้แก่
การขาย
อสังหาริมทรัพย์ที่ต้องจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมดังต่อไปนี้
(1) การขายอสังหาริมทรัพย์ของผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดินตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการจัดสรรที่ดิน
(2) การขายห้องชุดของผู้ประกอบกิจการซึ่งเป็นผู้ขอจดทะเบียนอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
(3) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารที่สร้างขึ้นเพื่อขาย
รวมถึงการขายที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารดังกล่าว
(4) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) หรือ
(3) เฉพาะกรณีที่มีการแบ่งขายหรือมีการแบ่งแยกไว้เพื่อขาย โดยได้จัดทำถนนหรือสิ่งสาธารณูปโภคอื่น หรือให้คำมั่นว่าจะจัดให้มีสิ่งดังกล่าว
(5) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการเฉพาะของนิติบุคคล ตามมาตรา
77/1 แห่งประมวลรัษฎากร
(6) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (5) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น เว้นแต่
(6.1)
การขายหรือการถูกเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์
(6.2)
การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก
กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นสินสมรสของผู้ตาย
ส่วนของสินสมรสของคู่สมรส
(กึ่งหนึ่ง) ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ส่วนของสินสมรส (อีกกึ่งหนึ่ง)ที่เป็นมรดกไม่ต้องเสียภาษี
ธุรกิจเฉพาะ เช่น สามีและภริยาไม่มีบุตรด้วยกัน
สามีถึงแก่ความตาย ต่อมาภริยาได้ขายสินสมรส
ที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ไปทั้งหมดภายใน 5
ปีนับแต่วันที่ได้มา ส่วนที่เป็นของภริยา (กึ่งหนึ่ง)
ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ส่วนที่เป็นมรดก (อีกกึ่งหนึ่ง
ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
กรณีผู้จัดการมรดกขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งถือว่าทายาทหรือผู้รับพินัยกรรมขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก
(6.3)
การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญที่ผู้ขายมีชื่ออยู่
ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
เป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น ในกรณีที่ที่ดินและอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างตาม (6.3)
ได้มาไม่พร้อมกัน กำหนดเวลาห้าปี ตามความใน (6) ให้ถือตามระยะเวลาการได้มาซึ่งที่ดินหรืออาคาร
หรือสิ่งปลูกสร้างที่ได้มาภายหลัง
กรณีผู้ขายอสังหาริมทรัพย์มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร
ชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะเวลารวมทั้งหมดถึงหนึ่งปี
ให้ถือว่ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎรไม่น้อยกว่าหนึ่งปีแล้ว
กรณีผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถือกรรมสิทธิ์รวมแต่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแยกเป็นรายบุคคลตามส่วนในกรรมสิทธิ์รวม บุคคลที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญเป็นเวลาไม่น้อยกว่า
1 ปี
กรณีผู้ขายอสังหาริมทรัพย์ที่ถือกรรมสิทธิ์รวมแต่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในฐานะห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ไม่ให้นำเงื่อนไขการมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านมาใช้สิทธิในกรณีดังกล่าว
กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินสมรส
คู่สมรสทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญเป็นเวลาไม่น้อยกว่า
1 ปี
กรณีคู่สมรสฝ่ายใดยกกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสินสมรสในส่วนของตนให้แก่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง
ถ้าคู่สมรสฝ่ายที่ยกให้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านที่ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญเป็นเวลาไม่น้อยกว่า
1 ปี กรณีดังกล่าวไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
(6.4)
การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่
บุตรชอบด้วยกฎหมายของตน แต่ไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม
(6.5)
การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ทางมรดกให้แก่ทายาทโดยธรรม
หรือผู้รับพินัยกรรมซึ่งเป็นทายาทโดยธรรม
(6.6)
การโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐบาลตามมาตรา
2 แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่มีค่าตอบแทน
(6.7)
การแลกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์กับส่วนราชการหรือองค์การของรัฐบาลตามมาตรา
2 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะในกรณีที่ส่วนราชการหรือองค์การของรัฐบาลนั้นมิได้มีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นอย่างอื่น
นอกจากอสังหาริมทรัพย์ที่แลกเปลี่ยนนั้น
ข้อสังเกต
1. การนับระยะเวลาการได้มา ให้นับระยะเวลาตั้งแต่วันที่ได้มา
จนถึงวันโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง (นับวันชนวัน) กรณีต่างกับการนับจำนวนปีถือครองเพื่อคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งนับเป็นปีปฏิทิน เช่น ซื้อที่ดิน เมื่อ
28 พฤษภาคม 2538 ขายไป 8 กุมภาพันธ์ 2542
กรณีนี้ถือว่าขายไปภายใน 5 ปี ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
2. การมีชื่อในทะเบียนบ้านไม่จำเป็นต้องติดต่อกันถึง 1 ปี
และในปีที่ขายแม้ ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียน
แต่ถ้ามีชื่ออยู่มาครบ 1 ปีแล้ว ก็ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
3. การขายฝากอสังหาริมทรัพย์ภายใน 5 ปีนับแต่วันที่ได้มา
อยู่ในข่ายเสียภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย
การไถ่ถอนการขายฝากภายในกำหนดเวลาก่อนวันที่ 10 เมษายน 2541
ไม่ถือเป็นการขายจึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
แต่หากเป็นการไถ่ถอนตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2541
ทรัพย์สินที่ขายฝากย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาชำระสินไถ่
ตามมาตรา 492 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่แก้ไขใหม่
ดังนั้นการไถ่ถอนการขายฝากภายใน 5 ปี นับแต่วันที่รับซื้อฝาก
เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางการค้า หรือหากำไร
แต่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ
4.
ผู้มีเงินได้ที่ได้รับเงินได้พึงประเมินจากการขายอสังหาริมทรัพย์ตาม
(6) ซึ่งได้ถูกหักภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย
และได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะไว้แล้ว
เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการเสียภาษีเงินได้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ดังกล่าวมาคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมิน
เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (พระราชกฤษฎีกาฯ
(ฉบับที่ 376) พ.ศ. 2544)
5.
ข้อยกเว้นใน (6) ไม่ใช้กับ (1) - (5) เช่น
ถ้าบริษัทถูกเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ที่มีไว้ในการประกอบกิจการ
ย่อมไม่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ
ฐานภาษี
การคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะ
ให้คำนวณจากยอดรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ก่อนหักรายจ่ายใดๆ
ดังนี้
(1)
กรณีราคาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามบันทึกถ้อยคำการชำระภาษีอากร
(ท.ด.16)
สูงกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน
ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้น
ให้คำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะตามราคาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามบันทึกถ้อยคำการชำระภาษีอากร
(ท.ด.16) (2)
กรณีราคาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ตามบันทึกถ้อยคำการชำระภาษีอากร
(ท.ด.16)
ต่ำกว่าราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน
ให้คำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะตามราคาประเมินทุนทรัพย์ (3)
กรณีที่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ติดจำนอง
ให้คำนวณยอดรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์รวมกับภาระจำนองที่ติดกับทรัพย์ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม
หากปรากฏหลักฐานจากการตรวจสอบของเจ้าพนักงานประเมินในภายหลัง
พบว่าราคาซื้อขายที่แท้จริงของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมีราคาสูงกว่าราคาซื้อขายตามบันทึกถ้อยคำการชำระภาษีอากร
(ท.ด.16) หรือราคาประเมินทุนทรัพย์
เจ้าพนักงานประเมินยังคงมีอำนาจในการติดตามประเมินเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากราคาซื้อขายที่แท้จริงที่สูงกว่าต่อไปได้ ตามมาตรา 91/2 (6)
แห่งประมวลรัษฎากรและคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.82/2542 ลว. 15
กุมภาพันธ์ 2542
อัตราภาษี
ธุรกิจที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะต้องเสียภาษีโดยคำนวณจากฐานภาษีคูณด้วยอัตราภาษี
ร้อยละ 3 และจะต้องเสียภาษีท้องถิ่น (ภ.ท., ร.ว. หรือ ร.ข.)ควบคู่ไปด้วยอีกร้อยละ 10 ของจำนวนภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าว
คำเตือน ในกรณีที่อสังหาริมทรัพย์ที่ขายไม่เข้าหลักเกณฑ์การยกเว้นการเสียภาษีธุรกิจเฉพาะท่านต้องชำระภาษีธุรกิจเฉพาะด้วย
ไม่ต้องเสียอากรแสตมป์ ในกรณีที่ท่านเสียภาษีธุรกิจเฉพาะและได้เสียอากรแสตมป์ด้วย
ท่านสามารถขอคืนอากรได้ โดยยื่น ค.10 ณ
สำนักงานสรรพากรพื้นที่ ภายใน 10 ปี นับแต่วันชำระอากรแสตมป์